OIA Chula Mascot Design Contest
ขอเชิญนิสิตปัจจุบันทุกระดับ นิสิตเก่า อาจารย์หรือบุคลากรปัจจุบันในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่มี ความสนใจเข้าร่วมส่งผลงานออกแบบเข้าประกวดมาสคอต (Mascot) สำนักบริหารวิรัชกิจและเครือข่ายนานาชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ด้วยสำนักบริหารวิรัชกิจและเครือข่ายนานาชาติ ได้จัดทำโครงการประกวดออกแบบสื่อสัญลักษณ์ (Mascot) ขึ้น เพื่อใช้ Mascot เป็นสื่อสัญลักษณ์ในการสร้างความจดจำต่อองค์กร และเป็นสื่อกลางในการสื่อสารไปยังกลุ่มเป้าหมาย โดยผลงานที่ได้รับการคัดเลือกจะถูกนำไปใช้ในการประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ ของสำนักบริหารวิรัชกิจฯ เช่น เว็บไซต์ สื่อสังคมออนไลน์ สื่อสิ่งพิมพ์ ตลอดจนการจัดทำของที่ระลึก และใช้เผยแพร่ในโอกาสต่าง ๆ ต่อไป
สื่อสัญลักษณ์ (Mascot) ของสำนักบริหารวิรัชกิจและเครือข่ายนานาชาติ จะต้องสื่อเอกลักษณ์ความเป็นสำนักบริหารวิรัชกิจฯ จุฬาฯ ในฐานะที่เป็นหน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่การสร้างเสริมด้านวิชาการนานาชาติ ทั้งในด้านการแลกเปลี่ยนบุคลากรและนิสิตระหว่างสถาบันการศึกษาระดับนานาชาติในหลักสูตรระยะสั้นและระยะยาว การรับรองอาคันตุกะต่างประเทศ พิธีทางการทูต การส่งเสริมความร่วมมือในเชิงยุทธศาสตร์ในระดับนานาชาติทางด้านงานวิจัยและนวัตกรรม และการดำเนินกิจการที่ขับเคลื่อนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสู่ความเป็นนานาชาติ ตามนโยบายเชิงรุกของมหาวิทยาลัย การดำเนินการกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับประเด็นท้าทายระดับโลกและพันธกิจของมหาวิทยาลัยต่อความยั่งยืนของมนุษยชาติในระดับสากล
วัตถุประสงค์
- เพื่อให้สำนักบริหารวิรัชกิจและเครือข่ายนานาชาติ มีสื่อสัญลักษณ์ (Mascot) ที่เป็นเอกลักษณ์และเสริมสร้างภาพลักษณ์
- เพื่อมีสื่อสัญลักษณ์ (Mascot) สำหรับใช้ในการประชาสัมพันธ์ และเผยแพร่กิจกรรมในโอกาสต่างๆ ของสำนักฯ ได้หลากหลายรูปแบบทั้งสิ่งพิมพ์ การใช้งานบนเว็บไซต์ ในสื่อแบบต่างๆ การใช้จัดทำเป็นของที่ระลึกของสำนักฯ
- เพื่อส่งเสริมและเปิดโอกาสให้กับนิสิตปัจจุบันทุกระดับ นิสิตเก่า อาจารย์หรือบุคลากรปัจจุบันในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีโอกาสแสดงความสามารถและความคิดสร้างสรรค์
คุณสมบัติของผู้เข้าร่วมโครงการ
นิสิตปัจจุบันทุกระดับ นิสิตเก่า อาจารย์หรือบุคลากรปัจจุบันในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่มีความสนใจเข้าร่วมส่งผลงานออกแบบเข้าประกวด โดยไม่จํากัดระดับการศึกษา อายุ เพศ และ สัญชาติ
หลักเกณฑ์การประกวด
- หลักเกณฑ์การประกวดและเงื่อนไข
- การออกแบบต้องออกแบบด้วยโปรแกรมออกแบบคอมพิวเตอร์ Adobe Photoshop หรือ Adobe Illustrator เท่านั้น
- ส่งผลงานเป็นไฟล์ภาพแบบดิจิทัล ขนาด A4 นามสกุล .jpg หรือ .png หรือ .pdf ความละเอียดต้องไม่ต่ำกว่า 300 dpi มาสคอตที่ออกแบบจำนวน 1 ผลงาน ต้องแสดงในกระดาษขนาด A4 ไม่เกิน 4 แผ่น พร้อมทั้งระบุชื่อผู้เข้าประกวด มีคำอธิบายผลงาน แนวความคิด แรงบันดาลใจหรือเรื่องราวที่สร้างสรรค์ขึ้น
- ผู้เข้าประกวดที่ได้รับรางวัล จะต้องจัดส่งไฟล์ต้นฉบับจากโปรแกรมที่ใช้ออกแบบให้สำนักบริหารวิรัชกิจฯ ไฟล์นามสกุล .ai หรือ .psd เป็นต้น
- การออกแบบสื่อสัญลักษณ์ (Mascot) 1 ชิ้น จะต้องออกแบบให้เห็นทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ ด้านหน้า, ด้านข้างซ้าย, ด้านข้างขวา, และด้านหลัง พร้อมออกแบบท่าทางต่าง ๆ ของ Mascot ไม่น้อยกว่า 12 ท่าทาง
- ผู้เข้าร่วมประกวด 1 คน มีสิทธิ์ส่งผลงานได้ไม่จํากัดจำนวน โดยคณะกรรมการขอสงวนสิทธิ์ในการรับรางวัล 1 คน ต่อรางวัลเท่านั้น การตัดสินผลงานที่ส่งเข้าประกวดจากคณะกรรมการ จะคัดเลือกเหลือ 1 ผลงาน
- การออกแบบที่สร้างสรรค์ ทันสมัย มีเอกลักษณ์และเป็นสากล ห้ามลอกเลียนและดัดแปลงแบบจากที่อื่น หรือนําภาพใดภาพหนึ่งมาทําซ้ำ ดัดแปลงรูปภาพตัวละครหรือมาสคอตหรือใช้ภาพที่มีลิขสิทธิ์ และผลงานต้องไม่เคยเผยแพร่เป็นที่รู้จัก หรือเคยได้รับรางวัลใดๆมาก่อน หากมีผู้ทักท้วงหรือทราบว่าเป็นการลอกเลียนแบบ การสมัครถือเป็นโมฆะ และผู้ส่งงานต้องรับผิดชอบ หากผลงานนั้น ละเมิดลิขสิทธิ์อื่นใดของบุคคลอื่น ทางสำนักบริหารวิรัชกิจฯ ไม่ขอรับผิดชอบใด ๆ ทั้งสิ้น
- ลิขสิทธิ์ในตัวผลงานที่ได้รับรางวัลจากทางสำนักบริหารวิรัชกิจฯ ถือเป็นกรรมสิทธิ์ ลิขสิทธิ์ สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาประเภทอื่นๆ ตลอดจนสิทธิอื่นใดในผลงานเป็นของสำนักบริหารวิรัชกิจฯ แต่เพียงผู้เดียว ซึ่งสามารถนำไปใช้ ดัดแปลง เผยแพร่ และการใช้เชิงพาณิชย์ได้โดยไม่ต้องแจ้งให้เจ้าของผลงานรับทราบ และขอสงวนสิทธิ์ในการปรับปรุงแก้ไขเพื่อนำไปใช้ได้ตามความเหมาะสม
- ผลงานที่ส่งเข้าประกวดจะมีเพียง 1 ผลงานเท่านั้นที่ได้รับรางวัลในการประกวดครั้งนี้
- แนวทางการออกแบบและเงื่อนไขผลงาน
- เป็นผลงานที่ออกแบบด้วยตนเอง
- สื่อสัญลักษณ์ (Mascot) ต้องสื่อถึงบริบทของสำนักบริหารวิรัชกิจฯ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- สามารถออกแบบจาก คน สัตว์ สิ่งมีชีวิตใดก็ได้ หรือสิ่งของ ที่มีความเกี่ยวข้อง เชื่อมโยงหรือสะท้อนถึงสำนักบริหารวิรัชกิจฯ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยต้องสื่อให้เห็นถึง ความน่ารัก อัธยาศัยดี มีความอบอุ่น ความเป็นสากล และจดจำง่าย
- ต้องมีสีชมพูจุฬา PANTONE 7424U เป็นส่วนประกอบ (C10 M77 Y18 K0) (R222 G92 B142) (#DB5F8E) เป็นองค์ประกอบในมาสคอตตามความเหมาะสม
- มีข้อความ OIA Chula และหากมีการใช้ฟอนต์ตัวอักษร จะต้องเป็นฟอนต์ตัวอักษรที่มีลิขสิทธิ์ถูกต้อง หรือประดิษฐ์เองขึ้นใหม่ก็ได้
- มีการตั้งชื่อสื่อสัญลักษณ์ (Mascot) ที่มีความหมาย
- ผลงานจะต้องประกอบไปด้วยภาพการออกแบบสื่อสัญลักษณ์ (Mascot) 4 ด้าน ได้แก่ ด้านหน้า, ด้านข้างซ้าย, ด้านข้างขวา, และด้านหลัง
- พร้อมออกแบบท่าทางต่างๆ ของ Mascot ไม่น้อยกว่า 12 ท่าทางอิริยาบถ โดยเป็นท่าทางที่สุภาพเหมาะสม ตรงกับลักษณะแนวคิด และคาแรคเตอร์ พร้อมอธิบายแนวคิดประกอบ เช่น ท่าไหว้ ท่าโบกมือ ท่าผายมือซ้าย/ขวา ท่าชูป้าย/ถือป้าย ท่ากดไลค์ ท่ายืน ท่านั่ง และท่าที่ดูสนุกสนานอื่นๆ ที่สามารถไปปรับใช้งานได้หลากหลาย ในการประชาสัมพันธ์บนสื่อเว็บไซต์หรือสิ่งพิมพ์ และการจัดทำเป็นของที่ระลึก
- สามารถนำผลงานไปใช้ประโยชน์ต่อในงานอื่นๆ ได้หลากหลาย เช่น ของที่ระลึก ตุ๊กตา ภาพตกแต่งในสื่อต่าง ๆ ของสำนักบริหารวิรัชกิจฯ
- การจัดส่งผลงาน
- กรอกรายละเอียดต่างๆ ลงในใบสมัคร แนบหลักฐานยืนยันตัวตน อาทิ สำเนาบัตรประจำตัวนิสิต สำเนาบัตรประจำตัวบุคลากร/อาจารย์ สำเนาใบปริญญาบัตร/ผลการศึกษา ส่งพร้อมชุดผลงาน
- ชุดผลงานที่ส่งเข้าประกวด ให้ตั้งชื่อผลงานพร้อมกับต้องมีคำอธิบายผลงาน เช่น แนวความคิด ความหมายของแบบ สี ฯลฯ ต้องแสดงในกระดาษขนาด A4 ไม่เกิน 4 แผ่น นามสกุล .jpg หรือ .png หรือ .pdf ความละเอียดต้องไม่ต่ำกว่า 300 dpi
- ส่งใบสมัครแนบหลักฐานยืนยันตัวตน พร้อมชุดผลงานมาที่ globalacademic.oia@chula.ac.th ระบุหัวเรื่องว่า “ประกวดออกแบบสื่อสัญลักษณ์ (Mascot)” ภายในวันที่ 7 เมษายน 2566 และจะประกาศผลภายในวันที่ 5 พฤษภาคม 2566 ทางอีเมลของผู้สมัคร
- เกณฑ์การตัดสิน
- รอบตรวจสอบหลักเกณฑ์ – คณะกรรมการทำการตรวจสอบผลงานว่าถูกต้องตามหลักเกณฑ์ในการประกวดหรือไม่ โดยการที่ผลงานจะผ่านเข้ารอบต่อไปหรือไม่ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของคณะกรรมการ
- รอบตัดสินคัดเลือกผลงานที่ได้รับรางวัล – แนวความคิดในการออกแบบ และความคิดสร้างสรรค์ ความสวยงาม มีเอกลักษณ์ ความเหมาะสม ใช้งานได้จริง มีความเกี่ยวข้องหรือสะท้อนถึงสำนักบริหารวิรัชกิจฯ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รูปแบบการนำเสนอที่ เข้าใจได้ง่าย ทั้งในด้านของการรับรู้และง่ายต่อการจดจำ
*อาจมีให้เจ้าของผลงานมานำเสนอผลงานเพื่ออธิบายเพิ่มเติม
**การตัดสินของคณะกรรมการถือเป็นที่สิ้นสุดในทุกกรณี
5. รางวัลการประกวด
ผลงานที่ได้รับรางวัลจะได้รับเงินรางวัล 15,000 บาท (ผู้ได้รับรางวัลจะต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย 10%) จำนวน 1 รางวัล พร้อมเกียรติบัตรจากสำนักบริหารวิรัชกิจและเครือข่ายนานาชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ทั้งนี้ หากสำนักบริหารวิรัชกิจฯ จุฬาฯ ตรวจสอบพบข้อมูลเท็จในคุณสมบัติของผู้สมัครหรือการลอกเลียนแบบ ดัดแปลง ทำซ้ำ ผิดหลักเกณฑ์ อันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในการประกวดนี้ในภายหลัง สำนักบริหารวิรัชกิจฯ มีอำนาจในการตัดสิทธิ์การสมัครและการริบรางวัลการประกวดคืน
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
ฝ่ายบริหารวิชาการนานาชาติ สำนักบริหารวิรัชกิจและเครือข่ายนานาชาติ โทรศัพท์ 0-2218-3123 และ 0-2218-3333 หรือไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ globalacademic.oia@chula.ac.th